เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของคณะ
องค์กรสุขภาวะเพื่อการเรียนรู้สู่จิตตปัญญาศึกษา สร้างวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกันด้วยความสุขจากภายใน เพื่อเป็นตัวอย่างของครูที่มีทักษะชีวิต และวิชาชีพที่สมบูรณ์ นักศึกษามีศักดิ์ศรีและภูมิใจในวิชาชีพ สามารถดูแลผู้ป่วยและเป็นต้นแบบสังคมด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์
คุณลักษณะบัณฑิตกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬาที่พึงประสงค์
“บัณฑิตกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นบัณฑิตที่มีความรู้ และทักษะทางกายภาพบำบัดในระดับสากลที่ทันสมัยมีจิตใจที่เปี่ยม คุณธรรมและจิตสำนึกสาธารณะ มีทัศนะความเป็นผู้นำที่หลากหลาย มีจุดมุ่งหมายที่ดูแลตนเองและ ผู้อื่นด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์อย่าง มีศักดิ์ศรีในวิชาชีพ”
" PT RSU "
P(Patient) : มีความอดทนและรักษาผู้ป่วยด้วยหัวใจความมนุษย์
T(Team work) : มีความเป็นผู้นำ ผู้ตามหรือผู้ประสานงานได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
R(Respect) : มีวินัย ตรงต่อเวลา เคารพกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ขององค์กรและสังคมรวมถึงการเคารพสิทธิและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
S(Specialist) : มีความรู้ ความสามารถและทักษะในการประกอบวิชาชีพตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพการยภาพบำบัด สามารถคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาได้ อย่างเป็นระบบและมีศักยภาพ พัฒนาตนเองโดยการศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ ทันสมัยและรู้จักเสียสละต่อองค์กรและมีจิตสาธารณะ
U(Unity) : รักและมีความภาคภูมิใจในวิชาชีพรวมถึงการผลักดันและส่งเสริมวิชาชีพให้เป็นที่ยอมรับ และมีความก้าวหน้าต่อไป
ปรัญญา
คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต มีความเชื่อว่าคุณภาพคือสิ่งที่ดี เป็นที่ยอมรับ เชื่อถือได้ และตรวจสอบได้ การประกันคุณภาพการศึกษาจึงเป็นหนทางหนึ่งซึ่งนำไปสู่การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ
ปณิธาน
คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต มีความมุ่งมั่นที่จะผลิตบัณฑิตสาขากายภาพบำบัดที่มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานสากล สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ เพื่อพัฒนาประเทศและตนเองให้ก้าวหน้าโดยมุ่งเน้นให้มีทั้งความรู้ ทักษะ จริยธรรมและคุณธรรมพร้อมทั้งมีโลกทัศน์ที่กว้างไกล อีกทั้งยังมีความมุ่งมั่นในการสร้างผลงานวิชาการ งานวิจัย และงานบริการวิชาการที่มีคุณภาพออกสู่สังคม
วิสัยทัศน์
คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นสถาบันชั้นนำในระดับชาติด้านการผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรมและคุณภาพจากภายใน สร้างและบูรณาการความรู้โดยเน้นความเป็นสากล ธรรมชาติ และประยุกต์ใช้ในสังคม เพื่อสังคมธรรมาธิปไตย”
พันธกิจ
1. พัฒนาหลักสูตรให้นำสมัย สอดคล้องกับความต้องการของสังคมในอนาคต
2. พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอน เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ คุณธรรม จริยธรรม และ บุคลิกภาพที่ดี
3. พัฒนาองค์ความรู้ สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพ
4. ถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม และการบริการวิชาการแก่สังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
วัตถุประสงค์
1. สร้างและพัฒนาหลักสูตรแบบมีส่วนร่วม ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคต
2. ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพตามมาตรฐานวิชาชีพกายภาพบำบัด สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสาขากายภาพบำบัด และมีคุณธรรม จริยธรรม มีบุคลิกภาพที่ดี
3. ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และความสามารถพื้นฐานในการทำวิจัยและพัฒนาตนเองได้ โดยสามารถศึกษาต่อในระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ และร่วมพัฒนาวิชาชีพกายภาพบำบัดได้
4. ส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของบุคลากรให้สามารถพัฒนาองค์ความรู้ สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพ
5. สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการสร้างองค์ความรู้ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
6. ถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม และการบริการวิชาการสู่สังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
7. ผสานการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยและการสร้างวัฒนธรรมที่ดีงาม รวมทั้งการทำนุบำรุงศิลปะ และประเพณีไทยเข้ากับการเรียนการสอนและกิจกรรมอื่นๆ ของคณะ
สีประจำคณะ
สีประจำคณะ คือ สีชมพู
ประวัติความเป็นมา
คณะกายภาพบำบัด ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2529 เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรกของประเทศ และเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งที่ 4 ของประเทศที่จัดการเรียนการสอนสาขาวิชากายภาพบำบัด เนื่องจากนักกายภาพบำบัดขาดแคลนมากในขณะนั้น แต่มีสถาบันผลิตนักกายภาพบำบัดเพียง 3 แห่งเท่านั้น คือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในระยะเริ่มแรกคณะกายภาพบำบัด ประกอบด้วย 4 ภาควิชา คือ 1) ภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพพื้นฐาน ซึ่งเปิดสอนวิชาสรีรวิทยาให้กับทุกคณะทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ 2) ภาควิชาการรักษาด้วยการเคลื่อนไหว 3) ภาควิชาการรักษาด้วยไฟฟ้า และ 4) ภาควิชาคลินิกกายภาพบำบัด ต่อมาเมื่ออาจารย์ทางด้านสรีรวิทยาโอนย้ายไปที่คณะวิทยาศาสตร์ กอร์ปกับนโยบายของมหาวิทยาลัยต้องการให้คณะต่างๆ รวมตัวเป็นกลุ่มคณะ จึงได้มีการปรับโครงสร้างของคณะใหม่เป็นคณะกายภาพบำบัดและเทคโนโลยีการกีฬา ประกอบด้วย 2 ภาควิชา คือ ภาควิชากายภาพบำบัด และภาควิชาเทคโนโลยีการกีฬา ภาควิชาเทคโนโลยีการกีฬาเปิดสอนหลักสูตรเทคโนโลยีการกีฬาสุขภาพและการจัดการเพียง 2 ปี ต้องปิดหลักสูตรชั่วคราวเนื่องจากมีนักศึกษาไม่เพียงพอ หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็นคณะกายภาพบำบัดอีกครั้ง โดยประกอบด้วย 4 กลุ่มวิชา คือ 1) กลุ่มวิชาระบบกล้ามเนื้อกระดูกและข้อต่อ 2) กลุ่มวิชาระบบประสาท 3) กลุ่มวิชาระบบปอดและหัวใจ และ 4) กลุ่มวิชาคลินิกและกายภาพบำบัดชุมชน
ในระยะเริ่มแรก วัตถุประสงค์ของคณะฯ คือการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถในการบริการทางกายภาพบำบัด ให้มีจริยธรรมและเป็นผู้นำชุมชนได้ ในปี พ.ศ. 2544 คณะฯ ได้ปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขากายภาพบำบัด โดยมุ่งเน้นให้บัณฑิตสามารถทำงานในชุมชนโดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอน มีจำนวนชั่วโมงฝึกปฏิบัติงานและฝึกงานทางคลินิกมากขึ้น ในปีการศึกษา 2552 คณะกายภาพบำบัดได้ปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขากายภาพบำบัดอีกครั้ง โดยมุ่งเน้นให้บัณฑิตมีความรู้ด้านสุขภาพทั้งระดับลึกและระดับกว้าง สามารถพัฒนาตนเองให้ทันกับการพัฒนาของเทคโนโลยีทางการแพทย์ สามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย ทั้งในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การดูแลผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และผู้ประสบอุบัติเหตุ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในอนาคต มีความสามารถในการสร้างงาน สามารถสร้างและจัดการความรู้ สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา (contemplative education) ผสานกับการเรียนรู้จากสถานการณ์จริงในชุมชน ใช้ชุมชนเป็นห้องเรียนชุมชน (community school) และหอผู้ป่วยชุมชน (community ward) มีลักษณะบูรณาการด้านเนื้อหาการเรียนการสอนและด้านกิจกรรมนักศึกษา ทั้งนี้เพื่อทำให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์และต่อเนื่องกัน เน้นการฝึกคิด ฝึกปฏิบัติมากกว่าการท่องจำ
ต่อมาในปี พ.ศ.2561 ท่าน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เล็งเห็นความสำคัญของงานกายภาพบำบัดที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา และสถานการณ์ปัจจุบัน จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 จึงให้เปลี่ยนชื่อคณะกายภาพบำบัด เป็น คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา (Faculty of Physical Therapy and Sport Medicine)
นับตั้งแต่เปิดดำเนินการจนถึงปัจจุบัน คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา ผลิตบัณฑิตกายภาพไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 989 คน